ออกนอกบริเวณ

ย่างเข้าสู่ปีที่สองของการทำหน้าที่ดูแลห้องสมุด ทำให้ดิฉันต้องออกนอกบริเวณอีกครั้ง ครั้งนี้ไปทั้งหมด 46 วัน ไปอบรมในฐานะที่เป็นผู้บริหารระดับสูง ว่าจะต้องเรียนรู้เรื่องใดบ้าง เพื่อให้นำวิชาความรู้กลับไปใช้กับหน่วยงานของตน
สบายๆ ก็แค่ออกจากบ้านตั้งแต่ตีห้าครึ่ง กลับถึงบ้านเกือบสองทุ่ม นอนอย่างต่ำตีหนึ่ง ปุเลงๆ ไปกลับกรุงเทพฯ (ราชเทวี) -นครปฐม ทิ้งภาระมากมายให้กับคนที่อยู่ ต้องขอบคุณทุกคนด้วย ไปเช้ากลับมืดเพราะรถจะได้ไม่ติด และพักผ่อนน้อย ในที่สุดก็ป่วยไข้และเรื้อรังจนถึงปัจจุบัน
กลับดึกเพราะต้องทำการบ้าน สรุปเรื่องที่ได้ศึกษาเรียนรู้ จากนั้นนำไปคิดวิเคราะห์และรายงานผล ส่วนนี้เฉยๆ เพราะห้องสมุดของเรามีการฝึกฝนเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน จึงเป็นข้อดีที่เราไม่รู้สึกว่าอึดอัด
ครูคนหนึ่งกล่าวว่า หากคุณมีเวลาที่รู้ว่าหน้ากากทุเรียนคือใคร แปลว่าคุณยังพอมีเวลา
ครูใหญ่บอกว่า พวกคุณที่หน้าผากจะมียี่ห้อของหน่วยงานติดไว้ ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังดูแลตัวเอง เพื่อนร่วมรุ่นมีตั้งแต่รองอธิการบดี ผู้อำนวยการหรือเลขานุการของคณะ ศูนย์ สถาบัน สำนักในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆทั่วประเทศ ที่ต่างต้องวางสิ่งที่เป็นแล้วสวมวิญญาณนักเรียน ทำการบ้านอย่างตั้งใจตามโจทย์ที่ครูสร้างมาให้คิดและคิด การอ่านเอกสารคือสิ่งประกอบ เพราะคำตอบหาไม่ได้จากอินเทอร์เน็ต หรือมีแต่อย่างหวังว่าจะนำมาใช้ได้แบบตัดปะ เพราะทุกอย่างต้องผ่านกระบวนการคิดให้เหมาะสมกับสถานะที่เป็นอยู่ เพราะไม่มีอะไรที่ผ่านสายตาของครู แล้วนำไปคุยกับเพื่อนๆ ซึ่งแน่นอนว่าเราต้องฝึกฝนการเป็นผู้ฟังและผู้เสนอที่ดี ไม่อือออแบบเรื่อยเปื่อย ทุกเรื่องต้องจบที่เหตุและผล เป็นจริงและเหมาะสม
ดิฉันสนุกสนานมากกับการเรียนเท่าๆกับทุกข์ วิชาที่ทุกข์จะไม่ “อิน” ขณะที่เพื่อนในชั้นตอบได้อย่างอัจฉริยะและลึกซึ้ง เปรียบเทียบกับตัวเองแล้ว อยากจะหาวิธีเพิ่มรอยหยักในสมอง เพราะอึนๆ มึนๆ ไม่จดไม่จำ ถ้าสอบก็คงตก ต้องกระซิบถามคนข้างๆให้ช่วยอธิบายซ้ำอีกครั้ง จดซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรือฟังมากๆ แล้วกลับไปหาอ่านต่อ บางวันนั่งอ่านเรื่อยๆ จึงอยู่จนสว่างคาตา
ทำแบบนี้เพื่อต้องการขจัดความทุกข์ของตนเอง ที่ชอบจำเฉพาะในส่วนที่เป็นงานแคบๆของตัวเอง ส่วนบริบทที่เป็นภาพใหญ่ที่มีผลกระทบเป็นระรอกหาได้ใส่ใจ แค่ฟังผ่านหู  เช่น เศรษฐกิจ หรือการเมืองจะปฏิเสธ โดยมีเหตุผลให้กับตัวเองว่า “ไม่ชอบ” หรือ “เบื่อ” ส่วนที่สนุกก็สนุก ไม่กดดัน เพราะเข้าใจทุกอย่างเป็นฉากเป็นช่อง ไม่แปลกที่มนุษย์จะชอบ
วันหนึ่งที่แวะเข้ามาเล่าให้คุณใหญ่ฟัง คุณใหญ่ที่เพิ่งกลับมากจากอบรมในลักษณะนี้เหมือนกันบอกว่าชอบมาก  และสิ่งที่เห็นเหมือนกันคือมีแต่คนเก่งๆๆๆๆๆๆๆๆ โดยเฉพาะคนที่เป็นน้องอายุสามสิบต้นๆ ที่คิดเร็ว ทำงานเร็วและหน้าตาดี ที่สามารถอยู่กับป้าๆลุงๆ ได้ ครูคนหนึ่งบอกว่าเรื่อง Gen ไม่น่าเกี่ยว ส่งที่เกี่ยวคือ คน นี่แหละที่ต้องรู้ว่าโลกเปลี่ยนไปถึงไหนแล้ว
สิ่งที่สงสัยคือชุดความรู้ที่ปรับทัศนคติแบบนี้ ทุกคนในองค์กรควรได้เรียนรู้ เพราะจะได้พูดเรื่องเดียวกัน ปัญหาขององค์กรเล็กและใหญ่คือผู้นำกับผู้ตามมองต่างกัน ไม่เห็นในภาพเดียวกัน ไม่มีใครถูก/ผิด เพราะต่างมีมุมประจำของตัวเอง
ข้อดีของการออกนอกบริเวณ คือโอกาสที่ได้เปลี่ยนมุม ทำให้เห็นอะไรมาก/กว้างหรือแคบลง
การออกนอกบริเวณ ไม่ใช่แต่เรื่องของพื้นที่ สิ่งสำคัญคือทัศนคติของการมองโลก ดิฉันชอบดูรายการเดอะ FACE เพราะจะได้ยินคำว่า Attitude อยู่บ่อยๆ จนต้องกลับไปดูซ้ำว่านัยยะคืออย่างไร
วันสุดท้ายของหลักสูตรคือวันพฤหัสดีที่ 27 เมษายน ครูบอกว่างานทุกชิ้นต้องส่งภายในวันนั้น ตอนแรกออกจะฉงนว่าทำไมไม่ให้ส่งวันจันทร์ ครูบอกว่าในเมื่อทำงานอย่างสม่ำเสมอ กำหนดการในเอกสารก็มี รวมทั้งการแจ้งด้วยวาจา / ดิฉันกด Enter ส่งงานชิ้นสุดท้ายในเวลาบ่ายแก่ๆ และกลับมาทำงานในวันศุกร์ที่ 28 เมษายน ด้วยความสบายใจเพราะไม่มีอะไรติดค้าง
เมื่อวานเห็นเพจ A Chance Learn ขึ้นสเตตัสว่า “ถ้าเราสอนคุณตกปลา เราจะให้เบ็ดและเหยื่อกับคุณทุกคนเพื่อฝึกตกปลา … แต่!!! เราไม่ได้บอกว่าเบ็ดที่ให้นั้น มันใช้ตกปลาได้ทุกตัวในโลก! … คุณต้องฝึกที่จะปรับ! ประยุกต์! ให้เบ็ดมันดีพอที่จะจับปลาได้ทุกมุมโลก และต้องรู้จักปรับเหยื่อให้ถูกใจปลาตัวอื่นๆ”
หากย้อนไปที่ยังไม่เห็นสเตตัสนี้เรายังคิดว่า ต้องให้เบ็ดกว่าให้ปลา จนลืมคิดไปว่า มี “เบ็ด” ในมือแล้ว ใช่ว่าจะตกปลาได้
มุมมองของถ้อยคำที่เห็นการพัฒนาความคิดของมนุษย์จริงๆ
ครูบอกว่าจะดีใจมากถ้าทุกคนนำวิชาความรู้ไปใช้เพื่อประเทศชาติของเรา ส่วนตัวเราเองมีเรื่องราวให้ต้องฝึกฝนอีกมากมาย ในกลุ่มไลน์นอกจากทุกข์สุขแล้วยังมีคำถามและคำตอบให้ช่วยกันคิด

 
เนื้อหาของวิชาความรู้ได้สรุปเป็นเอกสารจำนวนหนาปึ้กไว้จะพิมพ์ออกมาใส่แฟ้ม และบางส่วนแต่จะพยายามย่อยๆให้ได้อ่านกัน
การอบรมแบบนี้จะเป็นการไต่ระดับคือ ต้น กลาง และสูง และทุกคนโดยเฉพาะบรรณารักษ์มีโอกาสได้สิทธิ์นั้น!!
 

One thought on “ออกนอกบริเวณ

  • ดูเหมือนประโยคจบท้ายของคุณสมฯ หัวหน้าหอฯ
    จะสร้างแรงกระเพื่อมแก่มวลหมู่มหาชนชาวหอสมุดฯ พอประมาณ
    ส่วนจะเป็นแรงบวก ลบ พลังฉุด หรือ พลังเฉื่อย นั้น
    ขึ้นอยู่กับบุคคลผู้เสพถ้อยความจริงๆ ดังคำกล่าวของ
    สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) หรือ ที่เรารู้จักท่านกันดี
    ในนามปากกา “ป.อ. ปยุตฺโต” ซึ่งท่านได้กล่าวเรื่องการทำงาน สรุปความได้ว่า
    การทำงานอย่างได้ผล และคนทำงานมีความสุขนั้น
    อยู่ที่ “การตั้งท่าที” ในงานนั้นๆ เมื่อเริ่มต้นปฏิบัติงาน
    ฉันใดก็เช่นกัน การอบรมหลากหลายกับชีวิตการทำงานในองค์กรนั้น
    ย่อมเป็นเรื่องสามัญปกติ หากเราตั้งท่าทีในการ “ใฝ่รู้” เราจะ “รับ” ด้วยอิ่มเอม
    จะหาโอกาสถ่ายทอดเรื่อง “ท่าทีในการทำงาน” แบ่งปันให้ทราบในเวลาต่อไปค่ะ

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร