การนำหลอดไฟ LED มาใช้ในหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์

วิวัฒนาการในการประดิษฐ์สิ่งที่ให้เกิดแสงสว่างในยามค่ำคืนของมนุษย์ได้พัฒนาขึ้นตั้งแต่อดีตเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นตะเกียง เทียนไข จนถึงมีผู้ผลิตอุปกรณ์ที่สามารถให้แสงสว่างได้ ซึ่งเรียกว่า หลอดไฟฟ้า
เริ่มแรกที่เรามีไฟฟ้าแสงสว่างใช้ในบ้านเรือน เราจะใช้หลอดไฟฟ้าที่เป็นหลอดไส้ ซึ่งภายในหลอดจะมีไส้ที่ทำจากทังสเตน มีคุณสมบัติในการให้ความร้อนสูงแต่ประสิทธิภาพในการให้แสงสว่างต่ำ ต่อมาได้พัฒนาขึ้นเป็นหลอดประเภทต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น ให้ความสว่างเพิ่มขึ้น เช่น หลอดฮาโลเจน หลอดเมทัลฮาไลด์ หลอดโซเดียม หลอดแสงจันทร์ หลอดฟลูออเรสเซนต์หรือหลอดนีออน ซึ่งหลอดแต่ละชนิดมีคุณสมบัติในการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป
img_0661
ปัจจุบัน การใช้หลอดไฟแสงสว่างในบ้านเรือนหรือในสำนักงาน ส่วนใหญ่จะเป็นหลอดฟลูออเรสเซ็นต์หรือหลอดนีออน โดยมีส่วนประกอบคือ ตัวหลอด ไส้หลอด สตาร์ตเตอร์ และบัลลัสต์
เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการคิดค้นและผลิตหลอดไฟ LED มาจำหน่าย เพื่อต้องการมาใช้แทนหลอดชนิดเดิมที่ใช้อยู่ และมีการวิจัยพัฒนากันอย่างขนานใหญ่
หลอดไฟ LED นั้นดีอย่างไร ทำไมจึงมีผู้คาดการณ์ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อโลกในอนาคตเป็นอย่างมาก
หลอดไฟฟ้า LED ย่อมาจาก Light Emitting Diode ทำจากอุปกรณ์ไฟฟ้ากึ่งตัวนำที่สามารถปล่อยแสงสว่างออกมา หรือเรียกว่าไดโอดเรืองแสง
LED นี้นักวิทยาศาสตร์ได้สังเกตเห็นมานานแล้ว และได้มีวิจัยและพัฒนาจนสามารถประดิษฐ์ LED ที่ให้แสงสีแดงและสีต่าง ๆ แต่ให้ความสว่างน้อยมากจึงไม่สามารถนำมาใช้ในการทำหลอดไฟแสงสว่างได้ แต่ได้นำมาใช้ในส่วนอื่น ๆ ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
จนเมื่อต้นทศวรรษที่ 1990 ชูจิ นากามูระ นักฟิสิกส์อเมริกันผู้เกิดในญี่ปุ่น จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในซานตาบาร์บารา สหรัฐอเมริกา และนักวิจัยชาวญี่ปุ่น 2 คนคือ ฮิโรชิ อามาโนะ จากมหาวิทยาลัยนาโกยา และ อิซามุ อากาซากิ จากมหาวิทยาลัยเมโจ และมหาวิทยาลัยนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น ได้สร้างลำแสงสีน้ำเงินจากสารกึ่งตัวนำที่พวกเขาได้พัฒนาขึ้น หรือเรียกว่าแอลอีดีสีน้ำเงิน ซึ่งสามารถใช้เป็นแหล่งกำเนิดแสงสีขาวความเข้มสูง ทำให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็น LED ในเชิงพาณิชย์อย่างแพร่หลายและรวดเร็ว เช่น เครื่องคิดเลข สัญญาณจราจร ป้ายสัญญาณ จอภาพยนตร์ หน้าจอโทรศัพท์มือถือ หลอดไฟฟ้าแสงสว่าง เป็นต้น จนพวกเขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ เมื่อ พ.ศ. 2557
ข้อดีของหลอดไฟ LED
มีนักวิชาการและผู้ประกอบการหลายท่านได้กล่าวถึงข้อดีของหลอดไฟ LED ไว้หลายประการ กล่าวคือ
img_0653
ด้านความสว่างและการใช้งาน
–  LED จะมีทิศทางการส่องสว่างแบบเป็นท่อ ไม่ได้กระจายออกทุกทิศทาง ทำให้สามารถออกแบบตัวหลอดให้เหมาะสมกับรูปแบบโคมและกำหนดทิศทางของแสงจากหลอดไฟ LEDได้ ไม่ปล่อยแสงไปในทิศทางที่ไม่ต้องการ เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานแต่ละประเภท จึงใช้พลังงานน้อยกว่าแต่ให้แสงสว่างที่มากกว่าหลอดไฟชนิดอื่น
–  หลอดไฟ LED ไม่กระพริบขณะเปล่งแสง
–  การเปิด-ปิดหลอดไฟ สามารถเปิด-ปิดได้บ่อย ๆ โดยไม่เสียง่าย และการเปิดใช้งานจะให้แสงสว่างทันทีไม่ต้องเสียเวลารอนาน
ด้านความคงทน
–  หลอดไฟ LED มีอายุการใช้งานนานกว่าหลอดชนิดอื่น ๆ โดยมีอายุการใช้งานประมาณ 50,000 ชั่วโมง โดยที่หลอดไส้ มีอายุการใช้งานประมาณ 1,000-2,000 ชั่วโมง และหลอดฟลูออเรสเซนต์ (หลอดผอม) มีอายุการใช้งานประมาณ 6,000 ชั่วโมง (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย : 2556)
–  หลอดไฟ LED ทนต่อการสั่นสะเทือนได้มากกว่าหลอดไฟชนิดอื่น ๆ
ด้านประหยัด
–  ประหยัดค่ากระแสไฟฟ้า เนื่องจากหลอดไฟ LED จะถูกออกแบบโคมที่กำหนดทิศทางของแสงได้ จึงใช้พลังงานไฟฟ้าต่ำแต่มีประสิทธิภาพในการให้แสงสว่างสูง อีกทั้งการทำงานของหลอดไฟ LED จะปล่อยความร้อนออกมาน้อยกว่าหลอดไฟประเภทอื่น ๆ ดังนั้นอาคารที่ใช้ไฟฟ้าแสงสว่างที่เป็นหลอด LED จะมีการปล่อยความร้อนออกมาน้อย ทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานน้อยลง ประหยัดค่าไฟฟ้าได้อีกทางหนึ่งด้วย
–  ประหยัดค่าบำรุงรักษาและค่าใช้จ่ายในการซื้อหลอดใหม่มาทดแทนขอเดิมซึ่งชำรุด เนื่องจากเป็นหลอดไฟที่มีอายุการใช้งานนาน ทนต่อการสั่นสะเทือน และสามารถเปิด-ปิดไฟได้บ่อยโดยไม่เสียง่าย จึงไม่ต้องเปลี่ยนหลอดไฟบ่อย ๆ
ด้านสิ่งแวดล้อม
–  ลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เนื่องจากการใช้หลอดไฟ LED จะช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งในการผลิตพลังงานไฟฟ้าส่วนใหญ่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลต์ จึงก่อให้เกิดแก๊สเรือนกระจก การใช้หลอดไฟ LED ทำให้ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจึงส่งผลให้ลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกลงได้
–  การใช้หลอดไฟ LED จะก่อให้เกิดรังสีอัลตราไวโอเลตหรือ UV ที่มีผลเสียต่อผิวหนังและสายตาของมนุษย์ในปริมาณที่น้อยมากจนแทบจะไม่พบเมื่อเทียบกับหลอดไฟชนิดอื่น ๆ เนื่องจากหลอดไฟ LED ไม่ได้บรรจุไอปรอทเหมือนหลอดฟลูออเรสเซนต์
–  ทำให้ขยะที่เป็นหลอดไฟลดลง เนื่องจากหลอดไฟมีอายุการใช้งานนาน
การนำหลอดไฟ LED มาใช้ในหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์
img_0637
หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ มีอาคารสำหรับให้บริการ 2 อาคาร อาคารละ 4 ชั้น ในช่วงเปิดภาคการศึกษา จะเปิดบริการวันจันทร์-ศุกร์ ระหว่างเวลา 8.30-22.00 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ ระหว่างเวลา 10.00-19.00 น. ในช่วงปิดภาคการศึกษาจะเปิดให้บริการวันจันทร์-ศุกร์ ระหว่างเวลา 8.30-16.30 น. ในแต่ละปีจึงใช้งบประมาณในด้านไฟฟ้าแสงสว่างจำนวนมาก หอสมุดจึงหาวิธีที่จะลดการใช้งบประมาณด้านไฟฟ้าแสงสว่าง แต่ก็ทำได้ยาก เนื่องจากเป็นห้องสมุด จำเป็นต้องอำนวยความสะดวกด้านแสงสว่างให้เหมาะสมกับการค้นคว้าหรืออ่านหนังสือ
เมื่อหลายปีก่อนได้มีผู้แทนจำหน่ายหลอดไฟ LED มานำเสนอผลิตภัณฑ์ แต่ราคาของหลอดไฟ LED แพงมากเมื่อเทียบกับหลอดฟลูออเรสเซนต์ คือราคาหลอดละมากกว่า 2,000 บาท ขณะที่หลอดฟลูออเรสเซนต์ราคาประมาณ 100 บาท จึงไม่ได้นำมาใช้ในหอสมุด
img_0652
จนเมื่อกลางปี พ.ศ. 2559 มีผู้แทนจำหน่ายอีกรายหนึ่งนำผู้ผลิตหลอดไฟ LED มานำเสนอผลิตภัณฑ์ และได้ให้ตัวอย่างไว้ใช้ 1 หลอด เป็นหลอดไฟขนาด 18 วัตต์ ซึ่งสามารถใช้แทนหลอดฟลูออเรสเซนต์ ขนาด 36 วัตต์ แต่ให้แสงสว่างที่เท่ากัน
หลังจากทดลองใช้ประมาณ 1 เดือน และได้ศึกษาถึงคุณสมบัติและประโยชน์ของหลอดไฟ LED จึงได้นำร่องด้วยการทดลองเปลี่ยนบริเวณชั้น 1 ของอาคารหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล รวม 279 หลอด เมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 โดยเปลี่ยนจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ ขนาด 36 วัตต์ เป็นหลอดไฟ LED ขนาด 18 วัตต์ และจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ ขนาด 18 วัตต์ เป็นหลอดไฟ LED ขนาด 9 วัตต์ ซึ่งราคาของหลอดไฟ LED ขนาด 18 วัตต์ อยู่ที่หลอดละ 208.65 บาท โดยที่ราคาหลอดฟลูออเรสเซนต์ ขนาด 36 วัตต์ อยู่ที่หลอดละประมาณ 60-65 บาท
img_0656
ในการดำเนินการดังกล่าว หอสมุด ไม่ได้มีค่าแรงงานในการจ้างช่างมาเปลี่ยน เนื่องจากมีทีมงานซึ่งเป็นบุคลากรของหอสมุดที่มีความสามารถพิเศษในทางช่างดำเนินการให้ โดยถอดหลอดฟลูออเรสเซนต์ สตาร์ตเตอร์และบัลลัสต์ออก พร้อมกับเชื่อมต่อสายไฟในโคมให้ต่อกันแล้วจึงนำหลอดที่เป็นหลอดไฟ LED เข้าไปใส่ในโคมไฟเดิมแทนแบบหลอดต่อหลอด ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนโคมหรือเพิ่มปริมาณหลอดไฟ
หลังจากทดลองใช้งานหลอดไฟ LED ระยะหนึ่ง และยังไม่เห็นผลกระทบจากการใช้งานทั้งด้านแสงสว่าง การเปิด-ปิด และการกระพริบขณะใช้งาน หอสมุดจึงได้จัดทำโครงการเพื่อเปลี่ยนหลอดไฟอีกในบริเวณชั้น 2 อาคารหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ในปีงบประมาณ 2560 นี้ และจะขยายผลการดำเนินงานไปให้ครบทุกชั้นของทั้งสองอาคารในปีถัด ๆ ไป
img_0657
เรื่องเหล่านี้ บางท่านอาจเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย มองไม่เห็นผลการประเมินในเชิงประจักษ์ว่าจะลดค่าใช้จ่ายได้มากน้อยแค่ไหน จึงไม่สามารถเอาผลงานออกมาเผยแพร่ว่าลดได้จริง เพราะการวัดการใช้กระแสไฟฟ้าเฉพาะเรื่องของแสงสว่างทำได้ยาก เนื่องจากมีการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดอื่นทั้งของหอสมุดและของผู้เข้ามารับบริการรวมอยู่ด้วย หากจะติดตั้งอุปกรณ์วัดเฉพาะกระแสไฟฟ้าแสงสว่างโดยตรงก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยากและสิ้นเปลือง อีกทั้งมีงบประมาณจำกัด จึงทยอยเปลี่ยนให้เป็นหลอดไฟ LED ไม่ได้ทำพร้อมกันทุกชั้น ทุกอาคาร และหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่เปลี่ยนออกก็นำไปเป็นหลอดสำรองสำหรับบริเวณที่ยังไม่ได้เปลี่ยนเป็นหลอดไฟ LED เป็นการประหยัดอีกทางหนึ่ง
และเรื่องคุณประโยชน์ของ LED นี้ก็มีนักวิชาการ นักวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ เห็นว่าดีงาม หน่วยงานทั้งของรัฐบาลและเอกชนออกมารณรงค์ให้ใช้ และสนับสนุนการวิจัยพัฒนากันอย่างแพร่หลาย จึงน่าจะอนุมานได้ว่า ประหยัดได้จริง มีประโยชน์จริง
บรรณานุกรม
กษิดิศ  เสนะวงศ์.  (2557).  ทำไมต้องหลอด LED.  [ออนไลน์].  จาก http://www.pea-encom.com/index.php?mo=3&art=42142192.  วันที่ค้นข้อมูล 1 พฤศจิกายน 2559.
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย.  (2556).  ข้อมูลเบื้องต้นงานส่งเสริมการใช้หลอด LED เดือนกุมภาพันธ์ 2556.  [ออนไลน์].  จาก http://e-saving.egat.co.th/LED/led2.html.  วันที่ค้นข้อมูล 5 พฤศจิกายน 2559.
เจ้าของร้าน.  (ม.ป.ป.).  ประโยชน์ของหลอดไฟ LED ข้อดีที่อยากแนะนำให้เปลี่ยนมาใช้.  [ออนไลน์].  จาก http://www.changsinled.com/article/17/%E0%B8%9B%.  วันที่ค้นข้อมูล 3 พฤศจิกายน 2559.
ยุทธศักดิ์  คณาสวัสดิ์.  (ม.ป.ป.).  LED เทคโนโลยีแสงสว่างแห่งอนาคต.  [ออนไลน์].  จาก http://www.gets.co.th/knowledge.php?txtNo=15.  วันที่ค้นข้อมูล 3 พฤศจิกายน 2559.
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์.  (2557)  รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 2014.  [ออนไลน์].  จาก http://thep-center.org/src2/views/special-news.php?news_id=55.  วันที่ค้นข้อมูล 3 พฤศจิกายน 2559.
ASTVผู้จัดการออนไลน์.  (2557).  เอดิสันทำให้เรามีหลอดไส้ แต่โนเบลฟิสิกส์ทำให้เรามีหลอดแอลอีดี.  [ออนไลน์].  จาก http://www.manager.co.th/Science/viewnews.aspx?NewsID=9570000115430.  วันที่ค้นข้อมูล 3 พฤศจิกายน 2559.
Ecotech.  (ม.ป.ป.).  ประโยชน์ของการใช้หลอดไฟ LED.  [ออนไลน์].  จาก http://www.ecotech.co.th/news.html?view=article&id=98%3Anew01&catid=36%3Alatest-news.  วันที่ค้นข้อมูล 3 พฤศจิกายน 2559.
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร