โรงเรียนตัว E

ไปตลาดลาดชะโด อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ตลาดจะเปิดเพลงสาวผักไห่ตลอดเวลา พร้อมกับมีเสียงและป้ายบอกว่าขอเชิญชมอาคารไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูง รูปตัว E ที่ใหญ่และยาวที่สุดในประเทศไทย
หลังจากที่เดินรอบตลาดแล้ว ก็แวะมาชิมผัดไทยโดยคณะครูของโรงเรียนวัดลาดชะโด (ประกาศวิทยาคาร) ตั้งใจเพราะคิดว่ายังไงๆ รายได้ก็นำมาช่วยเหลือโรงเรียน ครูและนักเรียน ซึ่งถือว่าเป็นพวกเราในฐานะบุคลากรทางดารศึกษาด้วยกัน
ผัดไทยหนึ่งจานกับน้ำอัดลมหนึ่งแก้ว ทำให้มีแรงเดินไปสำรวจโรงเรียน เพราะหากไม่เดินก็จะไม่รู้ว่าเป็นว่ามันเป็นตัว E อย่างไร เเลยขออนุญาตคุณครูที่เริ่มทำตัวเป็นนักสำรวจ เดินดูเรื่อยๆ ช่างเป็นโรงเรียนที่ใหญ่จริงๆ ใจคิดเล่นๆ นะว่า หากไม่มีงบประมาณน่าจะเอาทำโรงแรมซะให้เข็ดเพราะมีห้องตั้ง 30 ห้อง แต่แค่แอบคิดคนเดียว
เดินดูไปเรื่อยๆ ทุกห้องได้ใช้ประโยชน์ เพราะมีทั้งห้องสื่อ ห้องบอล ห้องสมุด ห้องและห้อง…. และเป็นที่เรียนของเด็กชั้นอนุบาล ส่วนเข้าใจเด็กโตไปเรียนอาคารที่สร้างใหม่ด้านหน้าที่ติดถนน บังเอิญพบชายท่านหนึ่งท่าทางเป็นคุณครูที่นั่น แฮะๆๆๆ ก็เริ่มคุยและคุยถึงเรื่องราวของโรงเรียน เรื่องเก่าๆ ว่าสมัยก่อนเราก็เคยเรียนโรงเรียนที่มีพื้นไม้แบนี้ จำได้ว่าการลงเทียนแล้วถูพื้นนั้นเป็นเรื่องใหญ่ ถึงใหญ่มากที่สุด ตั้งแต่การไปขอเทียนพรรษาจากวัด การต้มเทียน การลงเทียนและการขัด ๆๆๆๆๆๆ ให้เงางาม ห้องใครใครขัดได้ดีที่สุดก็จะเป็นที่ภาคภูมิใจของทั้งครูและนักเรียน แต่ที่ไม่ชอบคือถุงเท้าที่เราต้องมานั่งซักๆๆๆๆ ขยี้ๆๆๆๆๆ
แล้วทานก็พาเราเดินดูรอบๆ โรงเรียน พาไปดูห้องประชุม พิพิธภัณฑ์ของโรงเรียน เรือ ชุมชน ลายมือ ฯลฯ คุยแบบนี้ท่าทางแบบนี้สงสัยท่านต้องเป็นผู้อำนวยการแน่เลย ผลก็คือใช่อย่างที่คิด ผอ.ท่านชื่ออาจารย์ชุมพล มณีโชติ บอกว่าสอบบรรจุครูครั้งแรกก็ที่โรงเรียนนี้ แต่ครั้งนี้มาเป็นผู้บริหาร คิดว่าคงอยู่จนถึงเกษียณอายุ ราชการ
น่าชื่นชมก็โรงเรียนยังรักษาสภาพเดิมๆ ของอาคารไว้เป็นอย่างดีมาก แต่สิ่งที่ไม่เดิมๆ คือแนวคิดในการสร้างสรรค์เนื้อหา การปรับพื้นที่เดิมโดยไม่กระทบกับความของเดิมๆ ให้อยู่ด้วยกันได้ ช่างเป็นโรงเรียนที่น่าสนใจจริงๆ
ด้วยความที่ไม่มีความสามารถจะถ่ายรูปอาคารเรียนให้เห็นแบบชัดๆ ว่าเป็นตัว E ทั้งที่ก่อนหน้านี้พลพรรคแนะนำว่าใ้ห้ถ่ายทีละรูปแล้วนำมาต่อกัน แต่ความสามารถเราไม่ถึง จึงเก็บไว้ที่สมองกับสองตา
แต่… ในห้องที่จะคาดว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ของโรงเรียนมีโมเดลของโรงเรียนแบบเห็นจะๆ จึงขอแชะๆๆ แล้วเรียนอาจารย์ว่าอยากถ่ายรูปมุมบนแบบนี้จัง เห็นเห็นชัดเจนดี คงต้องใช้ดาวเทียมช่วยกระมัง จากนั้นเราก็ถ่ายรูปโต๊ะเรียนและโต๊ะของคุณครู ลองใช้พิมพ์ดีดเก่าๆ
ดีใจที่หอสมุดฯ ของเรายังเก็บของเหล่านี้ไว้บ้าง อนาคตเราคงมีของแบบนี้ไว้ให้ลูกหลานได้ดู ตอนนี้อาจดูไร้ค่าและน่ารำคาญ ต่อไปไม่นานก็จะมีทั้งค่าและราคา
ได้แผ่นพับมาเรื่องราวของโรงเรียนมาจึงขอขยายความต่อให้ได้รู้คร่าวๆ กัน
โรงเรียนวัดลาดชะโด (ประกาศวิทยาคาร) ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ต.หนองน้ำใหญ่ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ก่อตั้งเมื่อ 20 มิถุนายน พ.ศ.2466 ตาม พ.รบ.ประถมศึกษา โดยพระยาเสนาพิทักษ์ นายอำเภอผักไห่ ใช้ชื่อว่า โรงเรียนประชาบาลตำบลจักราช 1 (วัดลาดชะโด) โดยใช้ศาลาการเปรียญเป็นที่สอน มีนักเรียน ป.1-3 จำนวน 111 คน มีพระภิษุสิงห์รัตน์ เป็นครูใหญ่ และมีครูน้อย 2 คน คือ นายบุญช่วย ผ่องบุรุษ แลละนายเปรื่อง อุนทะอ่อน ส่วนอาคารตัว E นีเริ่มก่อสร้างเมื่อ 12 กันยายน พ.ศ.2505 กว้าง 8 เมตร ยาว 144 เมตร พร้อมห้องประชุม ห้องส้วม ใช้งบประมาณที่ไ้ด้จากการบริจาคจำนวน 1,339,500 บาท ปัจจุบันยังมีรูปและรายนามของผู้บริจาคติดไว้ที่ห้องประชุมโรงเรียน ปัจจุบันมีมีนักเรียน 601 คน ครู 28 คน ผอ. 1 คน รอง ผอ. 2 คน และภารโรง 2 คน
เป้าประสงค์ของโรงเรียนไม่ต่างจากโรงเรียนอื่นๆ แต่ที่เด็ดสุดคือข้อสุดท้ายที่บอกว่า นักเรียนร้อยละ 100 มีทักษะกระบวนการในการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายเป็นรายได้ระหว่างเรียน ดังนั้นนักเรียนที่นี่นอกจากเรียนแล้วยังต้องรู้จักชุมชนและรู้จักทำมาหากินไปพร้อมๆ กับการเรียนหนังสือ
น่าสนใจและน่าไปเที่ยวค่ะ ขับรถชมวิวเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ถึง

2 thoughts on “โรงเรียนตัว E

  • อ่านเรื่องนี้แล้ว นึกถึงโรงเรียนนารีรัตน์ จังหวัดแพร่ที่ป้าแมวเรียน สมัยก่อนเป็นโรงเรียนสำหรับสตรี จะมีชายหรอมแหรม ตอนชั้น ม.ศ. 4-5 สำหรับผู้ที่ต้องการเรียนสายศิลป์ (อักษรศาสตร์นะ) ลักษณะอาคารเหมือนกันเลย แต่จำไม่ได้ว่ามีกี่ห้อง มี 2 ชั้น บันไดขึ้น ชั้นบน 2 ข้าง ส่วนกึ่งกลาง ชั้น 2 ตรงกับกึ่งกลางชั้นล่าง โดยที่เป็นบันไดขึ้นได้ด้วย ประมาณ ไม่เกิน 3 ข้น ถ้าจำไม่ผิด เดินลงมา พบเสาธงหน้าอาคาร ตรงกึ่งกลางพอดีด้วย ทางเดินหน้าห้องก็เหมือนเดินสุดตานั่นแหละ โต๊ะแบบที่ หนูตอง หนูเต็มนั่ง ก็มี ตู้ข้างฝา เครื่องพิมพ์ดีด ก็มี คงเหมือนๆกันนะ สมัยก่อนที่รัฐบาลให้งบประมาณสร้างเรงเรียน แ่ต่ปัจจุบันคงดูได้ผ่านช่องทางรูปภาพที่ถ่ายเก็บไว้ เพราะทราบว่า ได้รื้อแล้วสร้างคงลักษณะเดิมทุกประการ แต่สีไม่ค่อยเหมือนเดิม โต๊ะยาวแบบนั่ง 2 คน เปิดฝาขึ้นด้านบนเพื่อเก็บและเอาสิ่งของออก ฮ่าๆ แต่วีรเวรของเพื่อนร่วมชั้นตอน ม.ศ. 4 เปิดฝาโต๊ะ หยิบระฆังขึ้นมาตีเวลาเที่ยงกว่าๆ เพื่อแจ้งครูว่าหมดเวลาสอนแล้ว หิวข้าว ครูท่านนี้ปล่อยช้ามากทุกครั้ง หิวข้าวกลางวัน แต่ครูไม่สามารถจับได้แม้แต่ครั้งเดียวว่าใครนำมาตี เพราะไม่มีใครบอก ทุกคนเห็นชอบ เนื่องจากหิวข้าวเหมือนกันจ้า

  • เห็นพี่แมวเล่าเรื่องต้องเล่าบ้าง เดี๋ยวน้อยหน้า สมัยตอนเรียนมัธยมหากใครเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนราชินีบูรณะ จ.นครปฐม คงจำกันได้ว่า ที่โรางเรียนมีอาคารไม้ สองหลัง หลังหนึ่งหันหน้าไปทางสถานีตำรวจภูธรให้นักเรียนม.1 เรียน อีกหลังหันหลังให้เรือนจำให้นักเรียนม.2 เรียน เรื่องอาคารไม้เป็นวีรกรรมที่เล่าได้ตลอด ตอนเรียนม.1 เค้าให้นักเรียนทานอาหารเป็นโต๊ะ คล้ายกับการกินอาหารของฝรั่งเพราะต้องสอนมารยาทบนโต๊ะอาหาร ที่นี้มีกฎว่าหากใครมาสายต้องนั่งหัวโต๊ะ ด้วยความที่ไม่มีใครอยากนั่งก็แย่งกันลงจากตึก แต่มีข้อแม้ว่าต้องไม่เสียงดังไม่วิ่งบนตึกไม่งั้นถูกหักคะแนน พวกเราก็แข่งกันลงแบบเบาแต่รวดเร็ว แต่หากใครเบรกไม่ทันก็ลื่นตกบันได หรือโดนเพื่อดันจนตก เพราะพื้นลื่นมาก แถมถอดรองเท้าเดินเรียนอีกต่างหากลื่นล้มบ้าง ตกบันไดบ้าง กันเป็นกิจวัตร ตอนเรียนม.2 วีรกรรมที่สร้างชื่อมากคือ การเดินถือถาดใส่อาหารไปกินกันแล้วเกิดการลื่นตกบันได ถาดอาหารหล่นใส่อาจารย์ฝึกสอนที่เดินที่ระเบียงชั้นหนึ่ง อาจารย์หาตัวแถบตาย แต่ทุกคนปิดปากเงียบไม่มีใครบอกว่าใครทำ ส่วนโต๊ะเรียนไม่ต้องพูดถึงมีตั้งแต่สูตรคณิตศาสตร์ ศัพท์ภาษาอังกฤษ เขียนไว้เต็มไปหมด

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร