คุณค่าข่าว

images
 
 
 
 
 

ขอบคุณภาพจาก

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1260867898
 
สั้น 3 คำ ทำ(ไม)ยากจริงหนอ
……..
ภารกิจหลักอย่างหนึ่งของงานศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก
ที่เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่ครั้งคุณยายสาย…(กระสือ…รึเปล่าหว่าาาา)
นั่นคือการทำกฤตภาค หรือข่าวตัดจากหนังสือพิมพ์ที่เกี่ยวกับภาคตะวันตก
ในอดีตชาตินั้นอิฉันเข้าใจเอาเองว่า…ส่วนหนึ่ง
ที่ต้องจัดทำแม้สาระในด้านการอ้างอิงจะมีน้ำหนักน้อยเมื่อเทียบกับเอกสารวิชาการ
แต่เพราะข่าวให้ข้อมูลที่ “สด ใหม่ เป็นปัจจุบัน ทันเหตุการณ์” มีคุณค่าในปัจจุบัน
และจะเป็นสารนิเทศที่มี “คุณค่าทางประวัติศาสตร์” ในอนาคต
ผนวกกับ “ความขาดแคลนข้อมูล” ในระยะเริ่มต้น
จึงจำเป็นต้องเสริม เติมเต็ม ด้วยการคัดเลือกข่าว หรือ บทความ มาจัดทำกฤตภาค
ที่ให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และเป็นแหล่งข้อมูลปฐมภูมิ(Primary sources) อันมีสาระ
เพื่อนำไปใช้ในเชิงวิชาการ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับความครบถ้วนสมบูรณ์ของข่าวด้วยเช่นกัน
เก็บข่าวต้องมีขอบเขตไหม?
เนื้อหาหลักของนสพ.โดยทั่วไปคือข่าวซึ่งเป็นเหตุการณ์ปัจจุบัน
รวมทั้งบทความซึ่งมีความหลากในหลายแง่มุม อาทิเช่น
การเมือง กีฬา การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม บุคคล และอื่นๆ อีกมากมาย
การคัดเลือกจึงต้องมีขอบเขตที่สอดคล้องกับนโยบายและวัตถุประสงค์ของหน่วยงาน
แต่ปางก่อนการจัดทำกฤตภาคของศูนย์ข้อมูลฯ มีการกำหนดขอบเขตสาระในระดับหนึ่ง
ปัจจุบัน เมื่ออิฉันต้องมานั่งอยู่ท่ามกลางกฤตภาคที่มีจำนวนมากมายก่ายหน้าผาก
และต้องทำงานร่วมกับพี่ๆ น้องๆ ต่างสถาบัน นามว่าคณะทำงานข้อมูลท้องถิ่น PULINET
จึงได้เห็นว่าชาวประชาเขา “จำกัด” ความเป็น “ท้องถิ่น” ของตนอย่างไร
จึงจำต้องกลับมาดู “ของ” ในบ้านตัวเองว่าเดิม “มีอะไร” และต่อไปนี้จะ “เก็บอะไร”
เมื่อประเมินดูแล้วของที่มีอยู่บางส่วนเกินจำเป็น
บางส่วนคุณค่ายังไม่มากพอหากจะเก็บเพื่อใช้อ้างอิงในเชิงวิชาการ
ซึ่งในมุมของอิฉันมองว่าความเป็น “ศูนย์ข้อมูลท้องถิ่น” ข้อมูลประดามี
ควรบ่งชี้ความเป็น “ท้องถิ่น” อันมี “ภูมิปัญญา” แสดงให้เห็นชัดเจนใน
“อัตลักษณ์” ของความเป็น “ภาคตะวันตก” ของสยามประเทศ
อันมีพื้นที่ครอบคลุม 8 จังหวัด ตามแนวคิดของสำนักงานคณะกรรมการ-
พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2524
คือ กาญจนบุรี นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี
สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ด้วยอุปนิสัยของบรรณารักษ์ ลูก…ช่างเก็บ
จึงมีอาการ “รักพี่เสียดายน้อง” ด้วยเห็นว่าของที่มีอยู่เดิมบางสิ่งอย่าง
บางประเด็นเป็นอะไรที่สำคัญสำหรับท้องถิ่นบ้านอิฉัน
ณ เพลานี้จึงจำกัดขอบเขตการเก็บข้อมูลลงได้เพียง 16 ด้าน คือ
1. ด้านภาษาและวรรณกรรม 2. ด้านเกษตรกรรม
3. ด้านปรัชญา ศาสนา ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม
4. ด้านการละเล่น การแสดง นาฏศิลป์ ดนตรี และนันทนาการ
5. ด้านศิลปกรรม 6. ด้านอาหารและโภชนาการ 7. ด้านการแพทย์แผนไทย
8. ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม
9. ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
10. ด้านกองทุน ธุรกิจชุมชน และสวัสดิการ  11. ด้านการท่องเที่ยว
12. ด้านการเมือง / การปกครอง  13. ด้านการศึกษา
14. ด้านชาติพันธุ์ / ชนกลุ่มน้อย  15. ด้านบุคคลสำคัญ
16. ด้านประวัติศาสตร์ / โบราณคดี
ซึ่งขอบเขตแต่ละด้านได้อธิบายขยายความเพิ่มเติม
ติดตามรายละเอียด ขอบเขตการดำเนินงานของศูนย์ฯ ได้ที่
http://www.snc.lib.su.ac.th/west/
หรือ https://goo.gl/8nekxH
แต่ในทางปฏิบัตินั้น ข่าว คือ ข่าว ข่าวมีวัตถุประสงค์ของข่าว
บางข่าวมีความสำคัญเพียงเป็นข่าว บางข่าวเพียงบอกกล่าวเล่าแจ้งแถลงเพื่อทราบ
บางข่าวมีสาระครบถ้วนชัดเจนในประเด็น บางข่าวมีสาระเพียงจุดประกายให้ขวนขวายติดตาม
บางข่าวดูเหมือนจะมีสาระแต่น้ำหนักทางคุณค่ากลับเลือนหายไปกับสายลมแสงแดด
ดังนี้จึงต้องคิด พิจารณา ไคร่ครวญ ให้กระจ่างแจ้งว่า เหมาะควรแล้วจึงเก็บ
ข่าวไหนคัด…ข่าวไหนเขี่ย
ขอบเขตข้อมูลเป็นเพียงแนวทางที่ใช้เพื่อกำหนดประเด็นสาระที่ต้องการเก็บ
แต่เมื่อถึงคราวลงมือ ผู้ปฏิบัติก็จำเป็นต้องมีหลัก มีเกณฑ์เพื่อพิจารณาคัดเลือก
ซึ่งอิฉันมักให้คำถามเป็นข้อคิดในการพิจารณาคัดเลือกข่าวไว้ 2 ประการคือ
เมื่ออ่านข่าวแล้วควรต้องมีความคิดรวบยอดตอบตนเองกับสาระข่าวตรงหน้าให้ได้
ในความรู้สึกแรกว่าข่าวนั้นใช้ประโยชน์อ้างอิงได้หรือไม่ และตรงกับขอบเขตด้านใดใน 16 ด้าน
ที่ประสงค์ให้ใช้ความรู้สึกแรกเนื่องจากข่าวบางลักษณะมักสร้างความสับสนในการ “พิ” พอควร
และเมื่อเพียรอ่านไปๆ มาๆ บางครั้งก็กลับสร้างความยากในการตัดสินเพิ่มขึ้น
หรือ พออ่านหลายๆ ครั้งเข้าก็จะเกิดอาการบรรณารักษ์ลิซึ่ม คือเสียดาย ไม่อยากทิ้ง
อาการนี้อิฉัน และเชื่อว่าอีกหลายคนมักมี…เป็นประจำ
และที่สำคัญพาดหัวข่าว หรือหัวข้อเรื่องซึ่งแม้ว่าจะดูเหมือนใช่…แต่ก็หาใช่ทั้งหมด
เพราะบางครั้งพาดหัวข่าวที่มุ่งการประชาสัมพันธ์มากกว่าสาระก็ทำให้เราหลงประเด็น
การจะคัด หรือเขี่ยใดๆ จึงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้อ่านข้อมูลโดยตลอดอย่างมั่นใจ
ว่าข้อมูลที่เลือกนั้นมีประโยชน์ มีสาระมากพอ
แต่อย่างไรก็ดีการอิงหลักครูบาอาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิที่ท่านได้กำหนดเกณฑ์
เพื่อพิจารณาคัดเลือกกฤตภาคไว้ ก็น่าจะเป็นมาตรฐานที่ดีกว่า
จึงขอหยิบยกมาต่อยอด ตัดทอน ตามลักษณะงานของศูนย์ข้อมูลฯ ในปัจจุบัน ดังนี้

  • ให้ข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์สามารถใช้ในการอ้างอิงได้
    ในประเด็นนี้อิฉันขออนุญาตเพิ่มเติมว่า ควรมีปริมาณเนื้อหามากพอเหมาะ
    รวมทั้งสัดส่วนของข้อมูลที่ใช้ประโยชน์ได้ก็ควรจะมีมากพอควร
    อย่างน้อยควรจะเกินกว่าครึ่งของสาระข่าวหรือบทความนั้นๆ
    หรือหากเนื้อหามีไม่มากแต่ข้อมูลเป็นประโยชน์ ก็ควรจะหาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งอื่น
    รวมทั้งอาจหาข้อมูลเสริมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ แม้จะไม่ได้ระบุพื้นที่ภาคตะวันตก

เช่น แนวคิดโครงการ “การทำกิน1ไร่ทำได้1แสน”
มีเกษตรกรที่เข้าร่วมอบรมและนำวิธีการไปใช้จริงมาจากหลากหลายจังหวัด
รวมทั้งจังหวัดในภาคตะวันตก ซึ่งแนวคิดของโครงการดังกล่าว
เป็นรูปแบบของเกษตรทฤษฏีใหม่ ตามหลักปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง
ซึ่งหลักการในการทำเกษตรตามแนวทางนี้เป็นความรู้ค่อนข้างใหม่จึงควรหาข้อมูลเพิ่มเติม
เพื่อความครบถ้วนสมบูรณ์ของเนื้อหาและเกิดประโยชน์ต่อเนื้อหาของข่าว/บทความหลักยิ่งขึ้น

  • มีคุณค่าทางวิชาการค่อนข้างถาวร
    ประเด็นนี้ ค่อนข้างชัดเจนแต่ก็ต้องใช้วิจารณญานมากพอควรในการพิจารณา
    ซึ่งข่าว หรือบทความบางเรื่องอาจต้องเก็บไว้ระยะหนึ่งจึงจะสามารถ
    พิจารณาคุณค่าถาวรได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
  • เนื้อหาตรงกับวัตถุประสงค์ตามขอบเขตของหน่วนงานที่จัดทำ
    ในที่นี้คือศูนย์ข้อมูลฯ ซึ่งมีประเด็นขอบเขตที่จัดวางไว้
    และหากมองผิวเผินโดยไม่เข้าถึงในรายละเอียดก็อาจสับสนหลงทางได้

เช่น ด้านการศึกษา “ปัจจุบัน” จะเน้นเฉพาะการศึกษาที่จัดตามสภาพปัญหา
และความต้องการของท้องถิ่น เพื่อให้สามารถนำไปใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
โดยสอดคล้องเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ สังคมของท้องถิ่น
และที่สำคัญควรเป็นการเรียนรู้จากภูมิปัญญาที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ
ส่วนประเด็นอื่นๆ เป็นหลักเกณฑ์พื้นฐาน
ที่เชื่อว่าผู้ปฏิบัติงานสามารถพิจารณาได้ไม่ยากนัก กล่าวคือ

  •  มีความชัดเจนถูกต้องเรียบร้อยในการพิมพ์
    หากมีภาพประกอบควรชัดเจนและสัมพันธ์กับเนื้อหา
  • หาไม่ได้ในหนังสือ หรือยังไม่มีการตีพิมพ์
    ประเด็นนี้อิฉันมองว่าแม้มีการตีพิมพ์แล้วหากปริมาณ
    และความหลากหลายยังไม่เพียงพอ ก็ควรต้องเก็บซึ่งอาจเพียงชั่วระยะหนึ่ง
  • ผู้เขียนมีคุณวุฒิพอสำหรับการเขียนเรื่องนั้นๆ
    หรือเป็นเรื่องราวที่ผู้เขียนค้นคว้าวิจัยและนำมาเผยแพร่
  • เป็นเรื่องที่ผู้เขียนค้นคว้ารวบรวมจากแหล่งหรือผลงานของผู้อื่นที่เชื่อถือได้
  • มีอุดมคติ มีความรับผิดชอบ ยุติธรรมไม่ลำเอียงในเนื้อหา
  • ถ้อยคำสำนวนในการเสนอเนื้อหาสุภาพเรียบร้อย

ทั้งนี้ทั้งนั้นเกณฑ์และขอบเขตของข้อมูลเป็นเพียงแนวทางที่อำนวยต่อการทำงาน
ซึ่งมิใช่มาตราส่วนในการชั่ง ตวง วัด บางครั้งจึงอาจมีข้อยกเว้น
หรือข้อที่ต้องพิจารณาเฉพาะกรณี ขึ้นกับเนื้อหาสาระของข้อมูลที่อยู่ตรงหน้า
ลักษณะนี้บางท่านอาจมีคำถาม แล้วอะไรคือใช่ อะไรคือยกเว้นเฉพาะกรณี
อิฉันขอยกตัวอย่างประกอบข่าวเล็กน้อย   เช่น
ข่าวงานเทศกาลประจำปีของท้องถิ่น ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็มักจะให้รายละเอียดเกี่ยวกับ
ชื่องาน กำหนดวันเวลา สถานที่ กิจกรรมภายในงานในแต่ละปี
บางครั้งอาจมีประวัติความเป็นมาเล็กน้อย
ซึ่งข่าวลักษณะนี้มักเหมาะกับการประชาสัมพันธ์บอกกล่าว
แต่ใช่ว่าทุกครั้งคราวจะถูกคัดทิ้งไปเสียหมด
บางครั้ง บางปี บางนักเขียน อาจให้ข้อมูลสาระที่เป็นประโยชน์ในเชิงวิชาการ
เช่น เทศกาลงานลิ้นจี่ ของดีสมุทรสงครามเป็นงานประจำปี
ที่จะมีการประชาสัมพันธ์ข่าวทุกปี บางปีข่าวอาจมีลักษณะเป็นเพียง
การบอกกล่าวประชาสัมพันธ์ กำหนดวันเวลา กิจกรรมภายในงาน
มีประวัติความเป็นมาของงาน หรือกล่าวถึงลิ้นจี่บ้างเล็กน้อย
ในขณะที่บางปีอาจให้ข้อมูลรายละเอียดที่แตกต่าง
เช่น ประวัติความเป็นมาของการจัดงาน การปลูกลิ้นจี่
สายพันธุ์ลิ้นจี่ พื้นที่ปลูก การตลาดลิ้นจี่ เป็นต้น
ทั้งนี้ก็ขึ้นกับปริมาณเนื้อหาและสัดส่วนของข้อมูลที่เป็นสาระประโยชน์
โดยเทียบกับเนื้อหาข่าว หรือบทความชิ้นนั้นๆ ในภาพรวมด้วย
เกณฑ์พิจารณาคัดเลือกกฤตภาคของศูนย์ข้อมูลฯ ดังกล่าวนั้น
เป็นเพียงแนวทางในการทำงาน แต่การลงมือปฏิบัตินั้น
การตัดสินใจคัดเลือกหรือไม่ อย่างไรก็ต้องอาศัยความชำนาญในด้านข้อมูล
และที่สำคัญคือประสบการณ์ในการอ่านที่มากและหลากหลาย
ซึ่งจะเป็นทักษะสำคัญที่ช่วยให้เกิดกระบวนการคิด วิเคราะห์
และตีความข้อมูลต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้นอกจากเกณฑ์คัดเลือกที่ใช้เป็นแนวทางแล้ว
การทราบข้อดีของกฤตภาคก็อาจเป็นอีกข้อคิดที่จะช่วย
ในการวิเคราะห์และจัดการว่ากฤตภาคที่จัดทำนั้นตอบโจทย์หรือไม่
ข้อดีของกฤตภาค

  • กำหนดขอบเขตของเนื้อหาที่ต้องการจัดเก็บได้
    ตามนโยบายและวัตถุประสงค์ของหน่วยงาน
    ซึ่งในประเด็นนี้มือใหม่หัดตัด(ข่าว) ศต.
    อาจจะต้องพลิกตำราไปมาเพื่อจะได้ไม่หลงประเด็น
    ภายใต้ขอบเขตแต่ละด้าน ซึ่งมีมากมายพอควรถึง 16 ด้านด้วยกัน
  • สะดวกต่อการบริการ ผู้ใช้เลือกเฉพาะเรื่องที่ต้องการได้
    โดยไม่ต้องหาจาก นสพ.ทั้งฉบับ หรืออาจไม่ต้องหาจากแหล่งอื่นๆ เลยก็เป็นได้
    หากได้มีการจัดทำกฤตภาคเรื่องนั้นๆ อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
  • สืบค้นได้ เมื่อผ่านขบวนการในการจัดทำรายการอย่างเป็นระบบ
    ประเด็นนี้นับเป็นหัวใจที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการคัดเลือกข่าว
    เพราะการจัดทำเพื่อให้ผู้ใช้สืบค้นและเข้าถึงสาระที่แท้จริงของข่าวและบทความนั้น
    จำเป็นอย่างยิ่งที่การกำหนดหัวเรื่องต้องชัดเจน และสื่อถึงเนื้อหาได้อย่างเหมาะสม
    และในปัจจุบันเมื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสร้างฐานข้อมูล
    จำนวนหัวเรื่องที่มากมายเกินความจำเป็น ก็สามารถลดทอนลงไปได้มาก
    เพราะนอกจากการสืบค้นในส่วนหัวเรื่องแล้ว ยังสามาถใช้คำค้นในส่วนอื่นๆ
    คือ สืบค้นคำสำคัญ(Key word) สืบค้นกลุ่มเรื่อง 16 ด้าน
    ซึ่งในส่วนกลุ่มเรื่องนี้ว่าไปก็คือตัวแทนของหัวเรื่องอย่างกว้างนั่นเอง
  • เป็นทรัพยากรสารสนเทศที่มีลักษณะเฉพาะ คือ ให้ข้อมูลใหม่และเป็นข้อเท็จจริง
    ประเด็นข้อเท็จจริงนี้ ควรต้องให้ความสำคัญและพิจารณาอย่างรอบคอบ
    เพราะข้อเท็จจริงบางอย่างต้องรอการพิสูจน์ ข้อเท็จจริงบางอย่างต้องมีช่วงเวลา
    การเก็บรวบรวมข่าวจึงต้องใช้เวลา และความรอบคอบในการติดตามให้สมบูรณ์ด้วยเช่นกันเช่น ปัญหาการใช้ประโยชน์พระราชวังสนามจันทร์และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ภายในบริเวณ
    ซึ่งเมื่อครั้งที่ศาลากลางจังหวัดนครปฐมยังมิได้ย้ายไปยังที่ทำการแห่งใหม่
    และเกิดมีกรณีพิพาท และประเด็นเรื่องการอนุรักษ์สิ่งปลูกสร้างต่างๆ
    เป็นข่าวใหญ่ครึกโครมขึ้นหน้า 1 อยู่ระยะหนึ่ง แต่เมื่อปัญหาเริ่มคลี่คลาย
    ข่าวกลับเล็กลงจนแทบไม่เป็นที่สังเกต เช่นนี้การคัดเลือกเก็บก็ควรมีความสมบูรณ์ด้วย
  • สามารถพัฒนาเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิคส์ได้ง่าย
    ยุคปัจจุบันการจัดทำเอกสารอิเล็กทรอนิคส์เป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง
    เพราะตรงกับความต้องการของผู้ใช้ที่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว ทุกที่ ทุกเวลา
    การจัดทำกฤตภาคอิเล็กทรอนิคส์จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่ศูนย์ข้อมูลฯ ดำเนินการ
    แต่ทั้งนี้กระบวนการประณีคศิลป์ที่เคยใช้มาแต่เดิม
    เป็นขั้นตอนที่ใช้เวลา ใช้ทรัพยากรทั้งคน และสิ่งของมากมาย
    ปัจจุบันศูนย์ข้อมูลฯ จึงปรับกระบวนยุทธ์ใหม่
    จากเดิมที่ผู้ตรวจข่าวต้องตัดข่าวเป็นชิ้นใหญ่ นำมาซอยย่อยเพื่อจัดเรียงเนื้อความ
    และนำมาผนึกเรียงลงบนกระดาษ ประทับตรา เขียนรายการบรรณานุกรม
    ให้หัวเรื่อง แล้วจึงส่งไปสแกน คะเนดูแล้วเวลาในแต่ละวันแทบจะหมดไปกับการนี้
    เมื่อมาคิดใหม่ ทำใหม่ จึงย่นย่อกระบวนการตัดๆ ติดๆ ลง
    เหลือเพียงการตัดข่าวชิ้นใหญ่ ไม่ซอย ไม่ย่อย ไม่ผนึก
    แต่ส่งข่าวทั้งชิ้นไปสแกน ซึ่งผู้สแกนก็จะดูความเหมาะสมในแต่ละชิ้นข่าว
    แล้วจึงพิจารณาหัวข่าว เนื้อข่าว รูปข่าว อีกครั้งว่าจะตะแคง ซ้าย ขวา หน้า หลังสแกนโดยมีแนวปฏิบัติกว้างๆ ว่า หากเป็นข่าวที่จบไม่ลงใน 1 หน้า A 4
    ก็ขอหัวข้อข่าว 1 ช็อต ส่วนเนื้อข่าวก็จำลองหน้านสพ. โดยอาจแบ่งเป็นท่อนบนและล่าง
    ไม่จำเป็นต้องซอยยิบ ซอยย่อย ซอยยับจนเวียนเฮดเพื่อจัดเรียงเนื้อหาให้เรียงลำดับ
    เนื่องจากเห็นว่าปกติผู้อ่านข่าว หรืออ่านบทความ จะทราบอยู่แล้วว่าต้องอ่านเป็นคอลัมน์
    แต่ทั้งนี้ก็ต้องไม่สแกนหลุดล่น และควรประณีตบรรจงในความงามพอประมาณ
    มิฉะนั้นข่าวที่ตั้งอกตั้งใจคัดกรองคุณค่า ก็อาจด้อยหรือหมดคุณค่าลงไปโดยไม่ตั้งใจ
    และการสแกนอาจจำเป็นต้องเหลื่อมเนื้อหา เพื่อความสะดวกทั้งผู้อ่านและผู้สแกน
    เพื่อช่วยให้ผู้อ่านสามารถต่อท่อนบทตอนได้ง่ายขึ้น
    ส่วนผู้สแกนก็คาดว่าน่าจะใช้เวลาในการจัดทำน้อยลง

กระบวนการคัดเลือกเพื่อให้ข่าวมีคุณค่า และกระบวนการจัดทำ
เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงสาระของกฤตภาคไม่ว่าจะเป็น
การให้หัวเรื่อง กลุ่มเรื่อง การลงทะเบียน การบันทึกฐานข้อมูล
รวมทั้งการสแกน ทุกขั้นทุกตอน แม้จะผ่านการพิจารณามาอย่างดีแล้ว
แต่เมื่อผ่านระยะเวลาไปประมาณหนึ่ง ก็ยังจำเป็นที่จะต้องทำการ
ปรับปรุงกฤตภาคที่จัดเก็บ (Collection Development)
เพื่อสำรวจคุณค่ากฤตภาคที่จัดเก็บตามนโยบายและวัตถุประสงค์
ซึ่งควรต้องสัมพันธ์กับการใช้งาน
ในการพิจารณาปรับปรุงนี้ บางแนวคิดก็เห็นว่าควรพิจารณาดำเนินการปีละครั้ง
เพื่อกำจัดข้อมูลเก่าพ้นสมัย หมดคุณค่า ข้อมูลซ้ำมากเกินใช้ หรือเป็นข้อมูลที่ไม่มีผู้ใช้แล้ว
เพราะจะช่วยให้ข้อมูลที่จัดเก็บมีคุณค่าเหมาะสมอยู่เสมอ
แต่ในทางปฏิบัติก็ควรต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมแต่เมื่อแรกจัดทำ
เพราะหากให้ความสำคัญกับการคัดเลือกข่าวที่มีคุณค่าถาวรในเชิงวิชาการอย่างเข้มข้นแล้ว
การดำเนินการปรับปรุงกฤตภาคที่จัดเก็บก็อาจมีกำหนดที่ยาวนานขึ้น
หรืออาจไม่จำเป็นเลยก็เป็นได้
สรุปก็คือ กฤตภาคที่จัดทำจะมีคุณค่าประสบความสำเร็จ
ขึ้นกับปัจจัยสำคัญ คือ การคัดเลือกที่เหมาะสม
การจัดการ และระบบการจัดเก็บ-การสืบค้นที่ดีนั่นเอง

—————————————–

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก
วรรธนา บัวแก้ว. (25 มกราคม 2547). แหล่งความรู้และแบบทดสอบออนไลน์ โรงเรียนกันทรารมณ์.
เรียกใช้เมื่อ 24 กรกฎาคม 2557 จาก โรงเรียนกันทรารมณ์:
http://www.kr.ac.th/ebook481/vantana/b11.pdf
สิริพร ทิวะสิงห์. (2545). การจัดบริการสาระจากหนังสือพิมพ์. อินฟอร์เมชั่น,
9(1-2), หน้า 39-44.
สุภี วิหคไพบูลย์. (2543). การจัดการกฤตภาคในห้องสมุดมหาวิทยาลัย-
ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล.
บัณฑิตวิทยาลัย,
บรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

3 thoughts on “คุณค่าข่าว

  • No coment บอกได้สองคำว่า “ดีมาก ๆ” “มีประโยชน์” มาก ๆ ค่ะ

  • การคัดเลือก “สาระ” เพื่อทำกฤตภาค ทำดรรชนีวารสาร ซื้อหนังสือ ซื้อโสตทัศวัสดุ และอื่นๆ ที่เรียกว่าทรัพยากรสารสนเทศ เข้ามาในห้องสมุด เป็นกระบวนการหนึ่งของการ “จัดหา” ที่ดูเหมือนง่าย แต่ของบอกตรงๆ ว่ายาก เพราะหากมองไม่ทะลุปรุโปร่ง ไม่มองซ้ายขวา “สาระ” ก็จะกลายเป็น “ไร้สาระ” เรื่องนี้ไม่ใช่อารมณ์ ไม่ใช่รสนิยม ไม่ใช่ความชอบหรือไม่ชอบ แต่เป็นหลักการในวิชาชีพเลยแหละเรียนมาตั้งหนึ่งเทอม

  • กฤตถาค หากเวลาผ่านไปสาระที่มีอยู่ เมื่อได้นำไปเรียบเรียงเป็นหนังสือแล้ว เรื่องนั้นๆก็อาจไม่จำเป็นต้องเก็บต่อไป รอเวลาแล้วจึงจำหน่ายออก แต่หากต่อมาไม่มีการเรียบเรียงเป้นหนังสือแล้ว กฤตภาคนั้นยังคงเก็บต่อไป เนื้อหาสาระนั้นยังใช้อ้างอิงได้ ดังนั้นในการคัดเลือกสารสนเทศเพื่อการบริการ นอกจากทฤษฎี หลักการแล้ว ความรอบรู้จาการใฝ่เรียน ใฝ่รู้ ใฝ่ศึกษา ยังต้องอาศัยประสบการณ์(ความเก๋า)ของบุคคลนั้นเป็นอย่างมากด้วย

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร