เลขมาตรฐานสากลของหนังสือมีไว้ทำไม?

     คนที่ทำงานห้องสมุดโดยเฉพาะผู้ที่เรียนมาทางวิชาชีพบรรณารักษ์มักจะทราบว่าหนังสือแทบทุกเล่มนั้นจะต้องมีเลข ISBN กำกับไว้ประจำเล่มเพื่อประโยชน์อันใดนั้นก็คงจะทราบกันดี แต่สำหรับผู้ที่มิได้ร่ำเรียนมาทางนี้แต่ต้องมาเกี่ยวข้องหรือต้องมาทำงานในห้องสมุดอาจจะไม่รู้ว่าทำไมจะต้องมีเลขกำกับแล้ว ISBN นั้นหมายถึงอะไร มีประโยชน์ในทางใดบ้าง ก็ขอนำข้อมูลมาให้ทราบพอเป็นสังเขป ดังนี้
      ISBN ย่อมาจาก International Standard Book Number เป็นเลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ กำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของหนังสือแต่ละชื่อเรื่อง โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นผู้กำหนดเลขให้แต่ละประเทศทั่วโลก และมอบหมายให้หน่วยงานในแต่ละประเทศเป็นผู้บริการเลข ISBN สำเร็จรูปให้กับสำนักพิมพ์ สำหรับประเทศไทยนั้นมอบหมายให้สำนักหอสมุดแห่งชาติ เป็นผู้บริการหมายเลข ISBN
     ส่วนที่มาของ ISBN นั้นเริ่มจากประเทศอังกฤษที่มีบริษัทจัดจำหน่ายหนังสือขนาดใหญ่คือ บริษัท W.H. Smith ได้ร่วมกับสมาคมสำนักพิมพ์ และProf. F.G. Foster แห่ง London School of Economic ได้จัดทำตัวเลขกำกับหนังสือให้เป็นมาตรฐาน (Standard Book Number = SBN) ในปีค.ศ.1967 ต่อมาองค์การมาตรฐานระหว่างประเทศ หรือ ISO ได้ร่วมกับสมาคมสำนักพิมพ์และห้องสมุดต่างๆของยุโรปและอเมริกาเล็งเห็นความสำคัญของตัวเลขดังกล่าว จึงได้ปรับปรุงให้เป็นระบบมาตรฐานสากลในปีค.ศ.1970 เรียกว่า ISBN  สำหรับประเทศไทยนั้นได้เริ่มนำ ISBN มาใช้ในปีพ.ศ. 2519 โดยหอสมุดแห่งชาติร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติได้สร้าง ISBN เพื่อใช้ภายในประเทศ และเผยแพร่ในปีพ.ศ. 2521 เป็นต้นมา โดยเมื่อก่อนนั้นจะใช้ตัวเลขจำนวน 10 หลัก โดยแบ่งตัวเลขเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก เป็นเลขรหัสกลุ่มประเทศตามภูมิศาสตร์หรือตามภาษา ของประเทศไทยใช้เลข 974 กลุ่มที่สอง เป็นเลขรหัสสำนักพิมพ์  กลุ่มที่สาม เป็นเลขแสดงลำดับของสิ่งพิมพ์ที่ผลิตจากสำนักพิมพ์ ส่วนกลุ่มที่สี่ เป็นเลขตรวจสอบ ใช้ตรวจสอบความถูกต้องในระบบคอมพิวเตอร์ ตัวอย่างเช่น ISBN 974-738-374-8 เป็นเลขมาตรฐานสากลของหนังสือเรื่อง การแต่งกายสมัยรัตนโกสินทร์ แต่งโดย เอนก นาวิกมูล ของสำนักพิมพ์เมืองโบราณ เป็นต้น 
       ต่อมาการผลิตหนังสือมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆจนเลข ISBN ที่เตรียมไว้ไม่พอรองรับจึงเริ่มปรับเปลี่ยนมาใช้เป็นระบบเลข 13 หลักและเพื่อให้สอดคล้องกับระบบของต่างประเทศในการเชื่อมโยงทางธุรกิจการค้าทั่วโลกด้วย โดยทางหอสมุดแห่งชาติได้เริ่มปรับระบบและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007) เป็นต้นมา โดยเลขรหัสที่เพิ่มนี้จะใช้นำหน้าเลขรหัสกลุ่มประเทศซึ่งเลขรหัสนี้จะใช้หมายเลข 978 หรือ 979 ซึ่งเป็นรหัสบาร์โค้ดแสดงสินค้า/ผลิตภัณฑ์ (จากเดิมที่ใช้เลข 10 หลักจะไม่มีส่วนนี้) เช่น 978-974-9936-15-3
     ประโยชน์ของเลข ISBN มีไว้เพื่อความสะดวก ถูกต้อง รวดเร็ว ในการควบคุมข้อมูลสิ่งพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ ใช้ในการสืบค้น การสั่งซื้อ การยืมคืนหนังสือ การแลกเปลี่ยนข้อมูล เมื่อนำไปใช้ร่วมกับระบบบาร์โค้ดสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการบริหารสินค้า การวางแผนการผลิต การควบคุมสินค้าและการจัดจำหน่าย
    สำหรับความสำคัญของ ISBN ที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้หนังสือและห้องสมุดนั้นคือการสั่งซื้อนั่นเอง เพราะ ISBN จะเป็นตัวที่ชี้เฉพาะเจาะจงกับตัวเล่มหนังสือที่ต้องการได้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้แต่ง ชื่อเรื่อง ครั้งที่พิมพ์ ปีที่พิมพ์ สำนักพิมพ์ และป้องกันการซื้อหนังสือผิดเล่ม
     สิ่งพิมพ์ที่จะขอเลข ISBN ได้ เช่น หนังสือ สิ่งพิมพ์สื่อประสม แผนที่  สิ่งพิมพ์อักษรเบรลล์ ซอฟแวร์ด้านการศึกษา สิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ วิดีโอ ซีดี ดีวีดี เป็นต้น   ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์ที่ไม่ต้องขอเลข ISBN ได้แก่ วารสาร/นิตยสาร สิ่งพิมพ์ ที่ใช้งานระยะสั้น ข้อมูลส่วนบุคคล บัตรอวยพร ปฏิทิน แผ่นบันทึกเสียงเพลง ซอฟแวร์ที่ไม่ใช่เพื่อการศึกษา จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ เกมส์ หลักสูตรการเรียนการสอนของสถานศึกษา เป็นต้น  ตำแหน่งที่พิมพ์เลข ISBN ของหนังสือคือ ปกหน้า หลังหน้าปกใน และที่มุมล่างของปกหลัง   ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้างพอสมควร หากท่านที่รู้ลึกและรู้ละเอียดดีอยู่แล้วก็ต้องขออภัยในความตื้นเขินของข้อมูลและความด้อยในสติปัญญาของฉันด้วย
                                                                                                                                                

One thought on “เลขมาตรฐานสากลของหนังสือมีไว้ทำไม?

  • ขอบคุณมากๆ สำหรับข้อมูลค่ะ เป็นประโยชน์มากจริงๆ เพราะจะได้ใช้ในการ ตรวจสอบรายการหนังสือ หนูรู้แต่ ISSN และเลข ISBN 10 หล้ก ยังสงสัยเหมือนกันว่า ตอนนี้มี 13 หลัก มันมาจากไหนหว่า ได้คำตอบแล้ว ดีใจจริงๆ ไม่ต้องหาอ่านตั้งใจอยู่เหมือนกัน ว่าจะไปอ่าน

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร